วันอาทิตย์ที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2554

ตำนานหลวงพ่อลอยน้ำ 5 พี่น้อง


ตำนานหลวงพ่อลอยน้ำ 5 พี่น้อง

              สำหรับประวัติความเป็นมาของพระ 5 พี่น้องนั้น(หรือพระ 3 พี่น้องในบางตำนานซึ่งได้แก่ หลวงพ่อโสธร หลวงพ่อโต หลวงพ่อวัดบ้านแหลม) ตามตำนานระบุว่า พระพุทธรูปทั้ง 5 องค์ ต่างก็ลอยน้ำมาตามแม่น้ำสายหลักของภาคกลางทั้ง 5 สาย และมีชาวบ้านมาพบเจอจึงได้นำพระพุทธรูปเหล่านั้นขึ้นฝั่งและนำไปประดิษฐานไว้ตามวัดใกล้เคียงกับจุดที่ชะลอองค์พระขึ้นจากแม่น้ำ
       
             ส่วนเหตุที่ว่าพระพุทธรูปทั้ง 5 นี้เป็นพี่น้องกันก็มาจากตำนานที่เล่าสืบต่อกันมาว่า มีพี่น้องชาวเมืองเหนือ 5 คน บวชเป็นพระภิกษุและสำเร็จเป็นพระอริยบุคคล มีอำนาจทางจิตมาก ได้ตั้งจิตอธิษฐานร่วมกันว่าจะขอบำเพ็ญบารมีช่วยสัตว์โลกให้พ้นทุกข์ แม้ตายไปแล้ว ก็จะสร้างบารมีช่วยสัตว์โลกให้พ้นทุกข์ต่อไป จนกว่าจะถึงซึ่งนิพพาน 
"เกิดมาชาตินี้จะขอบำเพ็ญบารมีช่วยสัตว์โลกให้พ้นทุกข์ แม้ตายไปแล้ว ก็จะสร้างบารมีช่วยสัตว์โลกให้พ้นทุกข์ต่อไป จนกว่าจะถึงซึ่งนิพพาน" 
และเมื่อพระภิกษุทั้งห้ามรณภาพไปแล้ว ก็ได้เข้ามาสถิตอยู่ในพระพุทธรูปทั้งห้าองค์และแสดงปาฏิหาริย์ให้พระพุทธรูปทั้งห้าองค์ลอยน้ำมาทางใต้ตามแม่น้ำทั้ง 5 สาย

              ชาวบ้านชาวเมืองตามริมฝั่งแม่น้ำเห็นพระพุทธรูปทั้งห้าองค์ลอยน้ำมาก็พากันเลื่อมใส จึงได้นำพระพุทธรูปเหล่านั้นขึ้นฝั่งและอาราธนาให้ขึ้นสถิตอยู่ตามวัดต่างๆ ที่ใกล้เคียงกับจุดที่ชะลอองค์พระขึ้นจากแม่น้ำ

             โดยพระพุทธรูปองค์แรก ลอยมาตามแม่น้ำบางปะกง แล้วขึ้นประดิษฐานอยู่ที่วัดโสธรวรารามวรวิหาร จังหวัดฉะเชิงเทรา เรียกว่า “หลวงพ่อโสธร” 

             พระพุทธรูปองค์ที่สอง ลอยมาตามแม่น้ำนครชัยศรี ขึ้นประดิษฐานอยู่ที่วัดไร่ขิง จังหวัดนครปฐม เรียกว่า “หลวงพ่อวัดไร่ขิง” 

             พระพุทธรูปองค์ที่สาม ลอยมาตามแม่น้ำเจ้าพระยา ขึ้นประดิษฐานอยู่ที่วัดบางพลีใหญ่ใน จังหวัดสมุทรปราการ เรียกว่า “หลวงพ่อโต” 

             พระพุทธรูปองค์ที่สี่ ลอยมาตามแม่น้ำแม่กลอง ขึ้นประดิษฐานอยู่ที่วัดบ้านแหลม จังหวัดสมุทรสงคราม เรียกว่า “หลวงพ่อบ้านแหลม” 

             และพระพุทธรูปองค์ที่ห้า ลอยมาตามแม่น้ำเพชรบุรี ขึ้นประดิษฐานอยู่ที่วัดเขาตะเครา จังหวัดเพชรบุรี เรียกว่า “หลวงพ่อ (ทอง) เขาตะเครา” 

            ในขณะที่บางตำนานก็กล่าวไว้ว่า การที่พระพุทธรูปทั้ง 5 ลอยน้ำมานี้ ก็เพราะเมื่อคราวเสียกรุงครั้งที่ 2 ข้าศึกได้เผาไฟเพื่อหลอมเอาทองที่หล่อจากองค์พระพุทธรูป ชาวบ้านเองก็ต้องการจะรักษาพระพุทธรูปไว้ จึงเอาปูนบ้าง รักดำบ้างไปพอกไว้ที่องค์พระเพื่อให้ดูไม่สวยงามและปกปิดความมีค่าไว้จากข้าศึก แต่เมื่อไม่อาจปกป้องได้ไหวจึงขนย้ายพระพุทธรูปสำคัญลงแพไม้ไผ่ล่องมาตามแม่น้ำเพื่อไม่ให้ข้าศึกทำลาย ด้วยน้ำหนักขององค์พระ เมื่อวางพระลงบนแพไม้ไผ่จึงดูเหมือนพระพุทธรูปลอยมาตามน้ำ จนผู้ที่พบเห็นถือเป็นเรื่องปาฏิหาริย์ที่พระพุทธรูปองค์ใหญ่น้ำหนักมากจะสามารถจะลอยน้ำได้ 


หลวงพ่อวัดไร่ขิง

หลวงพ่อวัดไร่ขิง วัดไร่ขิง จังหวัดนครปฐม

________________________________________________



ประวัติ หลวงพ่อวัดไร่ขิง

         หลวงพ่อวัดไร่ขิง  เป็นพระประธานในพระอุโบสถวัดไร่ขิง อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม ไม่มีชื่อเรียกเฉพาะ ประชาชนทั่วไปมักเรียกว่า “หลวงพ่อวัดไร่ขิง” อนุโลมตามชื่อวัด ตามตำนานกล่าวว่าหลวงพ่อทำด้วยเนื้อสัมฤทธิ์ ประทับนั่งปางมารวิชัยหรือปางชำนะมารแบบประยุกต์ หลวงพ่อวัดไร่ขิงมีลักษณะผึ่งผายคล้ายเชียงแสน  พระหัตถ์เรียวงามตามแบบสุโขทัย แต่พระพักตร์ดูคล้ายรัตน์โกสินทร์ ประดิษฐานเหนือฐานชุกชี มีขนาดกว้าง ๔ ศอก  ๒ นิ้ว  สูง ๔ ศอก ๑๖ นิ้ว

         ตามตำนานกล่าวถึงการได้มาซึ่งหลวงพ่อวัดไร่ขิงว่าได้ถูกอัญเชิญมากจากกรุงเก่า (พระนครศรีอยุธยา) เป็นพระพุทธรูปที่ประชาชนนับถือมาก  ในวันที่อัญเชิญหลวงพ่อวัดไร่ขิงขึ้นจากท่าน้ำที่หน้าวัดไร่ขิงตรงกับวันพระขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๕  เป็นวันสงกรานต์  มีประชาชนมาชุมนุมกันมาก  ในขณะที่อัญเชิญหลวงพ่อวัดไร่ขิงขึ้นจากน้ำสู่ประรำพิธี  เกิดความมหัศจรรย์  แสงแดดที่แผดจ้ากลับพลันหายไป  ความร้อนระดุในวันสงกรานต์กลางเดือนห้า บังเกิดมีเมฆดำทะมึน ลมปั่นป่วน ฟ้าคะนองก้องในนภากาศ บันดาลให้ฝนโปรยลงมา ยังความเย็นฉ่ำใจทั่วหน้าทุกคนในที่นั้นเกิดความยินดี  พากันอธิษฐานจิต “ขอหลวงพ่อจักทำให้เกิดความร่มเย็นเป็นสุขดับความร้อนคลายความทุกข์ให้หมดไป ดุจสายฝนที่เมทนีดลทำให้ชุ่มฉ่ำ  เจริญงอกงามด้วยธัญญาหาร”  และในบัดนี้ก็ปรากฏเป็นความจริงแจ้งประจักษ์ ว่าหลวงพ่อได้ดลบันดาลให้เกิดสภาพการณ์อย่างนั้นแก่ทุกคนที่ประพฤติธรรม  (๑) หลวงพ่อวัดไร่ขิง ตามความเป็นจริงในพระพุทธศาสนา เป็นพระพุทธเจ้าหรือพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ตรัสรู้ด้วยพระองค์เองแล้วสอนให้ผู้อื่นรู้ตามได้ด้วย  เป็นผู้ก่อตั้งพระพุทธศาสนา มีความหมายอธิบายได้ ๒ ประการ คือ


ประการที่ ๑ เป็นพระพุทธเจ้าซึ่งเป็นบุคคลในประวัติศาสตร์  ได้แก่เจ้าชายสิทธัตถะ แห่งกรุงกบิลพัสดุ์ มีพ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย  เป็นต้น มีต้นตระกูล เป็นมนุษย์  ได้เสด็จออกผนวชแสวงหาสัจจธรรม และได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ประกาศพระศาสนาอยู่เป็นเวลา ๔๕ ปี  จึงเสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน

ประการที่ ๒  เป็นพระพุทธเจ้า ซึ่งเป็นตำแหน่งศาสดาเอกของโลก  ผู้บำเพ็ญบารมี  คือ คุณความดีต่าง ๆ โดยสมบูรณ์
 พระพุทธเจ้าให้ความเชื่อของพุทธศาสนิกชนฝ่านยหินยานหรือเถรวาท  อย่างที่คนไทยส่วนมากนับถือและปฏิบัติ  พระพุทธเจ้าทรงเป็นมนุษย์  ไม่ใช่เทพหรือผู้มีอำนาจเหนือธรรมชาติ  พระพุทธเจ้าแตกต่างจากคนทั่วไปในทางจิตใจและคุณสมบัติอันเป็นนามธรรม ในทางรูปธรรมพระองค์ทรงมีเนื้อหนังร่างกายที่ตกอยู่ภายใต้กฎแห่งธรรมชาติ  มีการเปลี่ยนแปลง เจ็บป่วย และแตกสลายได้เมื่อถึงเวลาเหมือนดังคนปกติทั่วไป

      

หลวงพ่อโสธร

หลวงพ่อโสธร วัดโสธรวรวิหาร จังหวัดฉะเชิงเทรา
_________________________________________

ประวัติหลวงพ่อโสธร วัดโสธรวรารามวรวิหาร

              หลวงพ่อโสธร เป็นพระพุทธรูปที่มีอภินิหาร มีฤทธานุภาพของชาวไทย
องค์หนึ่ง ชาวไทยได้รับการคุ้มครองรักษาอภิบาลจากหลวงพ่อโสธรองค์นี้อย่าง 
ร่มเย็นเป็นสุขและปลอดภัยอริราชศัตรูมาหลายปีแล้วอย่างแปลกประหลาด 
เพราะฉะนั้นท่านผู้ปรารถนาจะมีความสุขสวัสดี ปลอดภัยจากโรคพยาธิควรจะมีหลวงพ่อโสธรไว้บูชา

             หลวงพ่อโสธร เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ คือมีพระอิริยาบถนั่งขัดสมาธิ
พระชงฆ์ขวาทับพระชงฆ์ซ้าย พระหัตถ์ขวาทับพระหัตถ์ซ้ายวางซ้อนกันอยู่บนพระเพลา
มีส่วนสูง ๖ฟุต ๗นิ้ว พระเพลากว้าง ๕ฟุต ๖นิ้ว ปัจจุบันประดิษฐาน อยู่ในพระอุโบสถหลวงวัดโสธร จังหวัดฉะเชิงเทรา ชาวฉะเชิงเทราเคารพนับถือมาก ทางราชการจัดให้มีงานสมโภชเป็นเทศกาลประจำปี มีพุทธศาสนิกชนทั่วทั้งประเทศหลั่งไหลกันมานมัสการคับคั่งตลอดงาน ได้รับทั้งความสนุกและทั้งบุญกุศลด้วย

หลวงพ่อโต


หลวงพ่อโต วัดบางพลีใหญ่ใน จังหวัดสมุทรปราการ
_____________________________________________________


ประวัติหลวงพ่อโต

          พระพุทธรูปหนึ่งในห้าองค์ได้ลอยมาตามแม่น้ำเจ้าพระยามาจนถึงคลองสำโรง แต่เมื่อชาวบ้านช่วยกันฉุดดึงเท่าไรก็ไม่สามารถนำพระขึ้นจากน้ำได้ จึงต้องใช้เรือพายฉุดท่านให้ลอยมาตามคลองสำโรงและอธิษฐานว่า หากพระพุทธรูปประสงค์จะขึ้นที่ใด ก็ขอแสดงอภินิหารให้แพที่ลอยมาจงหยุด ณ ที่นั้น และเมื่อแพลอยมาถึงบริเวณหน้าวัดพลับพลาชัยชนะสงคราม หรือปัจจุบันคือวัดบางพลีใหญ่ใน แพที่ประดิษฐานพระพุทธรูปก็เกิดหยุดนิ่ง ฝีพายพยายามพายอย่างเต็มกำลังก็ไม่สามารถลากแพไปได้ จึงอัญเชิญพระขึ้นมาประดิษฐานในพระวิหารของวัดบางพลีใหญ่ใน และต่อมาจึงได้สร้างอุโบสถใหม่เพื่อประดิษฐานพระพุทธรูปองค์นี้

         หลวงพ่อโตเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย เหตุที่ได้ชื่อว่าหลวงพ่อโตก็เพราะท่านมีขนาดใหญ่โต หน้าตักกว้างถึง 3 ศอก 1 คืบ มีเรื่องเล่ากันว่าเมื่อตอนที่สร้างโบสถ์เสร็จใหม่ๆ ก่อนจะอัญเชิญหลวงพ่อโตเข้าไปประดิษฐานภายในก็ได้มีการวัดขนาดของพระกับช่องประตูไว้อย่างพอดีแล้วว่าช่องประตูใหญ่กว่าองค์ท่านประมาณ 5 นิ้ว สามารถนำท่านชะลอผ่านประตูเข้าไปได้

        แต่พอเวลาจะอัญเชิญหลวงพ่อเข้าสู่อุโบสถ ปรากฏว่าหลวงพ่อใหญ่มีขนาดใหญ่กว่าช่องประตูมาก ไม่สามารถผ่านประตูเข้าไปได้ เกือบจะต้องทุบช่องประตูออกเสียแล้ว แต่มีบางคนเห็นว่าเป็นอภินิหารของหลวงพ่อโต ทุกคนจึงจุดธูปเทียนบูชาอธิษฐานขอให้หลวงพ่อผ่านเข้าประตูอุโบสถได้ เพื่อเป็นมิ่งขวัญคุ้มครองชาวบางพลีสืบต่อไป ซึ่งก็สามารถอัญเชิญหลวงพ่อผ่านเข้าประตูพระอุโบสถได้อย่างง่ายดาย

วันเสาร์ที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2554

หลวงพ่อวัดบ้านแหลม


วัดเพชรสมุทรวรวิหาร (วัดบ้านแหลม)
 อ.เมือง จ.สมุทรสงคราม
_____________________________________________________

ประวัติ หลวงพ่อบ้านแหลม

         ความเลื่อมใสเชื่อมั่น ตลอดทั้งชีวิตจิตใจของชาวพุทธเมืองไทย ฝากฝังไว้แก่พระพุทธศาสนาอย่างหนักแน่นไม่แปรผัน ยึดมั่นนับถือพระรัตนตรัย ด้วยเห็นว่าสามารถช่วยเหลือทำให้จิตใจผ่องใส และทั้งอาจดลบันดาลขจัดปัดเป่าป้องกันภยันตราย และอำนวยความสุขลาภผลให้ได้ พระพุทธรูปในประเทศไทยมีนับจำนวนเป็นแสน ๆ องค์ แต่พระพุทธรูปทั้งหลายก็หามือ อภินิหารเหมือนกันไม่ ในจำนวนพระพุทธรูปที่ประชาชนยอมรับนับถือด้วยความเคารพบูชา จนถึงกับนานนามยกย่องว่า เป็นหลวงพ่อ หรือเปรียบเสมือนเป็นพ่อของคนทั้งเมือง ก็มีบ้างเป็นบางแห่งบางวัดไม่ทั่วไป โดยเฉพาะจังหวัดสมุทรสงครามนี้ มีพระพุทธปฏิมากรณ์เป็นพ่อบ้านเมืองยกย่องนับถือถวาย นามว่าหลวงพ่อ คือ “หลวงพ่อบ้านแหลม” เป็นที่เคารพสักการะบูชา


         หลวงพ่อวัดบ้านแหลม เป็นพระพุทธรูปยืนปางอุ้มบาตร หล่อด้วยทองเหลืองแบบสมัย สุโขทัยตอนปลาย ภายในโปร่งขนาดส่วนสูง  170 เซนติเมตร ประดิษฐานยืนอยู่บนแท่น ภายในพระอุโบสถวัดบ้านแหลม อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสงคราม ตามประวัติที่จารึกกล่าวไว้ว่า หลวงพ่อได้ล่องลอยน้ำลงมาจากทางเหนือพร้อมกัน 3 องค์ แสดงอภินิหารให้ผู้คนเห็นมาตลอดลำแม่น้ำเจ้าพระยา และ ครั้งหนึ่ง ได้ล่องลอยมาถึงบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยาตอนสามเสน ประชาชนสามแสนกว่าคนประสงค์ที่จะนิมนต์หลวงพ่อขึ้นบนฝั่ง ช่วยกันเอาเชือกผูกมัดองค์หลวงพ่อแล้วช่วยกันฉุดลากแต่ก็ไม่สามารถจะนำหลวงพ่อขึ้นฝั่งได้ และท่านก็จมน้ำหายไปจากที่นั้น


         ต่อจากนั้นท่านก็ได้แสดงอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ผุดให้คนเห็นในที่ต่าง ๆ กันเรื่อยมาจนในที่สุดก็ได้มาประดิษฐานเป็นมิ่งขวัญอยู่ใน พระอุโบสถวัดบ้านแหลมนี้จนกระทั่งปัจจุบันวัดบ้านแหลมเดิมชื่อว่าวัดศรีจำปา เป็นวัดที่เก่าแก่สร้างมานานคำนวณไม่ได้ว่ามี อายุประมาณสักเท่าใด วัดศรีจำปามีมาก่อนที่จะได้หลวงพ่อบ้านแหลมมาประดิษฐาน เมื่อหลวงพ่อมาประดิษฐานอยู่แล้วจึงได้เปลี่ยนเป็นชื่อวัดบ้านแหลม


         ตำนานเดิมกล่าวว่าชาวบ้านแหลม ซึ่งอยู่ปากอ่าวจังหวัดเพชรบุรีได้พากันมาตีอวนจับปลาในทะเล ในขณะที่ลากอวนจับปลาอยู่นั้น ได้ลากพระพุทธรูปติดอวนขึ้นมา 1 องค์ ต่างพากันดีใจมากกว่ามาจับปลา แต่กลับมาได้พระพุทธรูปเห็นว่าคงจะเป็นลาภอันใหญ่หลวงแล้ว จึงได้อาราธนาพระพุทธรูปนั้นขึ้นบนเรือ แล้วพากันล่องกลับจากทะเล ในระหว่างทางคงจะเป็นด้วยบุญบารมีของชาวบ้านแหลม คนในเรือคนหนึ่งได้แลเห็นพระเกศของพระพุทธรูปลอยปริ่ม ๆ น้ำ อยู่ไม่ไกลจากเรือที่แล่นอยู่เท่าใดนัก จึงร้องบอกให้ทุกคนทราบ แล้วเทียบเรือเข้าไป ทุกคนต่างปลื้มปิติยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้พบพระพุทธรูปหล่อด้วยทองเหลืองแต่ล่องลอยอยู่ในกระแสน้ำได้ ต่างพากันกราบนมัสการด้วยความเลื่อมใสในอภินิหารและอิทธิฤทธิ์ที่ได้พบเห็น


         ต่อจากนั้นก็ได้อาราธนาขึ้นบนเรือ อีกลำหนึ่ง แล้วพากันแล่นเรือกลับด้วยความดีใจเป็นที่สุด ครั้นเรือแล่นมาถึงแม่น้ำแม่กลองตอนหน้าวัดศรีจำปา ได้เกิดอาเพทคล้ายกับว่าหลวงพ่อประสงค์ ที่จะอยู่วัดนี้ จึงทำให้ฝนตกหนักลมพายุพัดจัดลืมหูลืมตาไม่ขึ้น เรือลำที่หลวงพ่อบ้านแหลมประดิษฐานอยู่ ทนคลื่นลมไม่ไหวประคองตัวไม่อยู่เรือเอียงวูบไป หลวงพ่อที่อยู่บนเรือจึงเคลื่อนตกจมหายลงไปในแม่น้ำ ชาวประมงบ้านแหลมพากันตกใจและเสียดายมาก ต่างช่วยกันเพียรดำค้นหาอยู่หลายวันจนอ่อนใจ ก็ไม่พบตกลงไม่ค้นหากันต่อไปอีก จึงนำพระพุทธรูป องค์ที่เหลืออยู่ไปยังถิ่นของตน และนำพระพุทธรูปองค์นั้นไปประดิษฐานไว้ที่วัดเขาตะเครา จังหวัดเพชรบุรี


         กาลต่อมาชาวบ้านศรีจำปาต่างก็ช่วยกันลงดำค้นหาหลวงพ่อที่จมอยู่นั้น เป็นด้วยเพราะอภินิหารของหลวงพ่อที่จะอยู่เป็นมิ่งขวัญของชาวบ้านศรีจำปา จึงทำให้ชาวบ้านศรีจำปาพบและอาราธนานำไปประดิษฐานไว้ ที่วัดศรีจำปา ชาวประมงบ้านแหลมครั้นรู้ข่าวเข้าว่า ชาวบ้านศรีจำปาได้พระของตนที่จมน้ำนั้นแล้ว ก็ยกขบวนกันมาขอพระคืน แต่ชาวบ้านศรีจำปาไม่ยอมให้จนเกือบจะเกิดศึกกลางวัดขึ้น แต่ด้วยอภินิหารของหลวงพ่อบ้านแหลม และการมีเหตุผลด้วยกันทั้ง 2 ฝ่าย ก็ประสานสามัคคีตกลงปรองดองกันได้ ทางฝ่ายชาวประมงบ้านแหลมก็ยินยอมยกพระพุทธรูปที่ชาวบ้านศรีจำปางมได้ประดิษฐานอยู่ที่วัดศรีจำปาตาม แต่ต้องเปลี่ยนชื่อวัดเสียใหม่ ให้ชื่อว่า “วัดบ้านแหลม” เพื่อให้เป็นอนุสรณ์ที่ชาวบ้านแหลมได้พระพุทธรูปมาที แรก ตั้งแต่นั้นมาวัดศรีจำปา จึงได้นามว่าวัดบ้านแหลม มาจนทุกวันนี้


         ตามประวัติ หลวงพ่อบ้านแหลม เมื่อคราวที่ไปลอยวนอยู่ที่แม่น้ำเจ้าพระยาตอนสามเสน นั้น ประชาชนสามแสนกว่าคนประสงค์จะอาราธนานิมนต์หลวงพ่อขึ้นฝั่งช่วยกันเอาเชือกพรวนผูกมักแล้วช่วยกันฉุดลากก็ไม่สามารถนำหลวงพ่อขึ้นฝั่งได้ แล้วหลวงพ่อก็แสดงปาฏิหาริย์จมน้ำหายไปทั้ง 3 องค์


         ต่อมา ทราบว่าองค์หนึ่งได้ขึ้นไปประดิษฐานอยู่ที่วัดโสธร คือ หลวงพ่อโสธร จังหวัดฉะเชิงเทรา อีกองค์หนึ่งไปขึ้นประดิษฐานอยู่ที่วัดบางพลีใหญ่ใน คือ หลวงพ่อโต จังหวัดสมุทรปราการ ตามที่ท่านแสดงปาฏิหาริย์จมน้ำหายไปครั้งนั้น หลวงพ่อได้แสดงอภินิหารให้เห็นว่า ถ้าท่านไม่ประสงค์จะอยู่ในที่ใดแล้วให้มีคนมากกว่า สามแสนคนมาฉุดดึงท่านก็ไม่รับนิมนต์ แต่พอถึงที่หน้าวัดบ้านแหลมท่านก็ยอมขึ้นแต่โดยดี มิต้องใช้เชือกมัดหรือใช้ผู้คนมากมาย ไม่ต้องฉุดดึงเพียงแต่เจ้าอาวาสในสมัยนั้น กับชาวบ้านเพียงไม่กี่คนอาราธนาอัญเชิญหลวงพ่อถูกต้องตามพิธีการ ท่านก็รับนิมนต์ยอมขึ้นมาประดิษฐานอยู่ประจำวัดเป็นมิ่งขวัญตลอดมา จนกาลปัจจุบัน

หลวงพ่อ (ทอง) เขาตะเครา


ตำนานของ “หลวงพ่อ (ทอง) เขาตะเครา” 
แห่งแม่น้ำเพชรบุรี 
วัดเขาตะเครา อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี 
___________________________________________________________

            กว่า 200 ปี มาแล้วที่พระพุทธรูปนั่งปางมารวิชัยองค์เล็ก ขนาดหน้าตักกว้างเพียง 21 นิ้ว ซึ่งลอยน้ำมาจากทางเหนือ (พร้อมพระพี่น้องอีก 4 องค์) ได้ขึ้นประดิษฐานอยู่ ณ วัดเขาตะเครา อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี เป็นพระพุทธรูปองค์เดียวในจำนวน 5 องค์พี่น้อง ที่มีแผ่นทองคำเปลวปิดหุ้มอยู่หนามากจนแลไม่เห็นความงามตามพุทธลักษณะเดิม 

ประวัติความเป็นมา 

            ตามที่ได้กล่าวไว้แล้วในประวัติของหลวงพ่อบ้านแหลม ว่า ชาวบ้านแหลมซึ่งอยู่ปากอ่าวจังหวัดเพชรบุรี ได้พากันมาจับปลาในทะเล ขณะที่ลากอวนอยู่นั้นได้ลากพระพุทธรูปนั่งปางมารวิชัยติดอวนขึ้นมาองค์หนึ่ง ในระหว่างทางกลับ ก็ได้พบพระพุทธรูปยืน (หลวงพ่อบ้านแหลม) ลอยปริ่มๆ น้ำอยู่ไม่ไกลนัก จึงอาราธนาขึ้นบนเรืออีกลำหนึ่ง แต่เกิดอาเพทฝนตกหนัก ลมพายุพัดจัด เรือลำที่พระพุทธรูปยืนประดิษฐานอยู่นั้น ทนคลื่นลมไม่ไหว จึงเอียงวูบไป พระพุทธรูปที่อยู่บนเรือจึงเคลื่อนตกจมหายไปในแม่น้ำ 

            ชาวบ้านแหลมพากันตกใจและเสียดายเป็นอย่างยิ่ง ต่างช่วยกันดำน้ำค้นหาอยู่หลายวัน แต่ก็ไม่พบ จึงตกลงว่าไม่ค้นหากันต่อไปอีก จึงนำพระพุทธรูปองค์นั่งที่เหลืออยู่บนเรืออีกลำหนึ่งไปยังถิ่นของตน และนำพระพุทธรูปองค์นั้นไปประดิษฐานไว้ที่วัดเขาตะเครา อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี ตั้งแต่ พ.ศ.2302 เป็นต้นมา และเรียกขานกันว่าหลวงพ่อเขาตะเครา 

ชื่อใหม่ของหลวงพ่อ 

                หลวงพ่อเขาตะเครา ได้รับการเรียกขานนามใหม่คือ “หลวงพ่อ (ทอง) เขาตะเครา” สาเหตุมาจากมีช่างภาพคนหนึ่งต้องการถ่ายภาพหลวงพ่อ แต่ความที่องค์หลวงพ่อมีทองปิดทับอยู่หนามากจนแลไม่เห็นพุทธลักษณะเดิม ช่างภาพคนนี้จึงไปแกะทองที่ตาหลวงพ่อออกโดยมิได้บอกล่าวและขออนุญาต หลังจากนั้นไม่กี่วันช่างภาพคนนี้ก็มีอาการหูตาบวมเป่ง จึงต้องมากราบขอขมาหลวงพ่อ อาการจึงหายไป 

               จากเหตุการณ์ดังกล่าว จึงไม่มีใครกล้าไปแตะต้องหลวงพ่อ จนกระทั่งทองปิดองค์ท่านทับถมกันมากขึ้นทุกวันๆ ชาวบ้านที่มานมัสการจึงเติมคำว่า “ทอง” ไปในการเรียกขาน จึงกลายมาเป็น “หลวงพ่อ (ทอง) เขาตะเครา”