วันเสาร์ที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2554

หลวงพ่อวัดบ้านแหลม


วัดเพชรสมุทรวรวิหาร (วัดบ้านแหลม)
 อ.เมือง จ.สมุทรสงคราม
_____________________________________________________

ประวัติ หลวงพ่อบ้านแหลม

         ความเลื่อมใสเชื่อมั่น ตลอดทั้งชีวิตจิตใจของชาวพุทธเมืองไทย ฝากฝังไว้แก่พระพุทธศาสนาอย่างหนักแน่นไม่แปรผัน ยึดมั่นนับถือพระรัตนตรัย ด้วยเห็นว่าสามารถช่วยเหลือทำให้จิตใจผ่องใส และทั้งอาจดลบันดาลขจัดปัดเป่าป้องกันภยันตราย และอำนวยความสุขลาภผลให้ได้ พระพุทธรูปในประเทศไทยมีนับจำนวนเป็นแสน ๆ องค์ แต่พระพุทธรูปทั้งหลายก็หามือ อภินิหารเหมือนกันไม่ ในจำนวนพระพุทธรูปที่ประชาชนยอมรับนับถือด้วยความเคารพบูชา จนถึงกับนานนามยกย่องว่า เป็นหลวงพ่อ หรือเปรียบเสมือนเป็นพ่อของคนทั้งเมือง ก็มีบ้างเป็นบางแห่งบางวัดไม่ทั่วไป โดยเฉพาะจังหวัดสมุทรสงครามนี้ มีพระพุทธปฏิมากรณ์เป็นพ่อบ้านเมืองยกย่องนับถือถวาย นามว่าหลวงพ่อ คือ “หลวงพ่อบ้านแหลม” เป็นที่เคารพสักการะบูชา


         หลวงพ่อวัดบ้านแหลม เป็นพระพุทธรูปยืนปางอุ้มบาตร หล่อด้วยทองเหลืองแบบสมัย สุโขทัยตอนปลาย ภายในโปร่งขนาดส่วนสูง  170 เซนติเมตร ประดิษฐานยืนอยู่บนแท่น ภายในพระอุโบสถวัดบ้านแหลม อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสงคราม ตามประวัติที่จารึกกล่าวไว้ว่า หลวงพ่อได้ล่องลอยน้ำลงมาจากทางเหนือพร้อมกัน 3 องค์ แสดงอภินิหารให้ผู้คนเห็นมาตลอดลำแม่น้ำเจ้าพระยา และ ครั้งหนึ่ง ได้ล่องลอยมาถึงบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยาตอนสามเสน ประชาชนสามแสนกว่าคนประสงค์ที่จะนิมนต์หลวงพ่อขึ้นบนฝั่ง ช่วยกันเอาเชือกผูกมัดองค์หลวงพ่อแล้วช่วยกันฉุดลากแต่ก็ไม่สามารถจะนำหลวงพ่อขึ้นฝั่งได้ และท่านก็จมน้ำหายไปจากที่นั้น


         ต่อจากนั้นท่านก็ได้แสดงอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ผุดให้คนเห็นในที่ต่าง ๆ กันเรื่อยมาจนในที่สุดก็ได้มาประดิษฐานเป็นมิ่งขวัญอยู่ใน พระอุโบสถวัดบ้านแหลมนี้จนกระทั่งปัจจุบันวัดบ้านแหลมเดิมชื่อว่าวัดศรีจำปา เป็นวัดที่เก่าแก่สร้างมานานคำนวณไม่ได้ว่ามี อายุประมาณสักเท่าใด วัดศรีจำปามีมาก่อนที่จะได้หลวงพ่อบ้านแหลมมาประดิษฐาน เมื่อหลวงพ่อมาประดิษฐานอยู่แล้วจึงได้เปลี่ยนเป็นชื่อวัดบ้านแหลม


         ตำนานเดิมกล่าวว่าชาวบ้านแหลม ซึ่งอยู่ปากอ่าวจังหวัดเพชรบุรีได้พากันมาตีอวนจับปลาในทะเล ในขณะที่ลากอวนจับปลาอยู่นั้น ได้ลากพระพุทธรูปติดอวนขึ้นมา 1 องค์ ต่างพากันดีใจมากกว่ามาจับปลา แต่กลับมาได้พระพุทธรูปเห็นว่าคงจะเป็นลาภอันใหญ่หลวงแล้ว จึงได้อาราธนาพระพุทธรูปนั้นขึ้นบนเรือ แล้วพากันล่องกลับจากทะเล ในระหว่างทางคงจะเป็นด้วยบุญบารมีของชาวบ้านแหลม คนในเรือคนหนึ่งได้แลเห็นพระเกศของพระพุทธรูปลอยปริ่ม ๆ น้ำ อยู่ไม่ไกลจากเรือที่แล่นอยู่เท่าใดนัก จึงร้องบอกให้ทุกคนทราบ แล้วเทียบเรือเข้าไป ทุกคนต่างปลื้มปิติยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้พบพระพุทธรูปหล่อด้วยทองเหลืองแต่ล่องลอยอยู่ในกระแสน้ำได้ ต่างพากันกราบนมัสการด้วยความเลื่อมใสในอภินิหารและอิทธิฤทธิ์ที่ได้พบเห็น


         ต่อจากนั้นก็ได้อาราธนาขึ้นบนเรือ อีกลำหนึ่ง แล้วพากันแล่นเรือกลับด้วยความดีใจเป็นที่สุด ครั้นเรือแล่นมาถึงแม่น้ำแม่กลองตอนหน้าวัดศรีจำปา ได้เกิดอาเพทคล้ายกับว่าหลวงพ่อประสงค์ ที่จะอยู่วัดนี้ จึงทำให้ฝนตกหนักลมพายุพัดจัดลืมหูลืมตาไม่ขึ้น เรือลำที่หลวงพ่อบ้านแหลมประดิษฐานอยู่ ทนคลื่นลมไม่ไหวประคองตัวไม่อยู่เรือเอียงวูบไป หลวงพ่อที่อยู่บนเรือจึงเคลื่อนตกจมหายลงไปในแม่น้ำ ชาวประมงบ้านแหลมพากันตกใจและเสียดายมาก ต่างช่วยกันเพียรดำค้นหาอยู่หลายวันจนอ่อนใจ ก็ไม่พบตกลงไม่ค้นหากันต่อไปอีก จึงนำพระพุทธรูป องค์ที่เหลืออยู่ไปยังถิ่นของตน และนำพระพุทธรูปองค์นั้นไปประดิษฐานไว้ที่วัดเขาตะเครา จังหวัดเพชรบุรี


         กาลต่อมาชาวบ้านศรีจำปาต่างก็ช่วยกันลงดำค้นหาหลวงพ่อที่จมอยู่นั้น เป็นด้วยเพราะอภินิหารของหลวงพ่อที่จะอยู่เป็นมิ่งขวัญของชาวบ้านศรีจำปา จึงทำให้ชาวบ้านศรีจำปาพบและอาราธนานำไปประดิษฐานไว้ ที่วัดศรีจำปา ชาวประมงบ้านแหลมครั้นรู้ข่าวเข้าว่า ชาวบ้านศรีจำปาได้พระของตนที่จมน้ำนั้นแล้ว ก็ยกขบวนกันมาขอพระคืน แต่ชาวบ้านศรีจำปาไม่ยอมให้จนเกือบจะเกิดศึกกลางวัดขึ้น แต่ด้วยอภินิหารของหลวงพ่อบ้านแหลม และการมีเหตุผลด้วยกันทั้ง 2 ฝ่าย ก็ประสานสามัคคีตกลงปรองดองกันได้ ทางฝ่ายชาวประมงบ้านแหลมก็ยินยอมยกพระพุทธรูปที่ชาวบ้านศรีจำปางมได้ประดิษฐานอยู่ที่วัดศรีจำปาตาม แต่ต้องเปลี่ยนชื่อวัดเสียใหม่ ให้ชื่อว่า “วัดบ้านแหลม” เพื่อให้เป็นอนุสรณ์ที่ชาวบ้านแหลมได้พระพุทธรูปมาที แรก ตั้งแต่นั้นมาวัดศรีจำปา จึงได้นามว่าวัดบ้านแหลม มาจนทุกวันนี้


         ตามประวัติ หลวงพ่อบ้านแหลม เมื่อคราวที่ไปลอยวนอยู่ที่แม่น้ำเจ้าพระยาตอนสามเสน นั้น ประชาชนสามแสนกว่าคนประสงค์จะอาราธนานิมนต์หลวงพ่อขึ้นฝั่งช่วยกันเอาเชือกพรวนผูกมักแล้วช่วยกันฉุดลากก็ไม่สามารถนำหลวงพ่อขึ้นฝั่งได้ แล้วหลวงพ่อก็แสดงปาฏิหาริย์จมน้ำหายไปทั้ง 3 องค์


         ต่อมา ทราบว่าองค์หนึ่งได้ขึ้นไปประดิษฐานอยู่ที่วัดโสธร คือ หลวงพ่อโสธร จังหวัดฉะเชิงเทรา อีกองค์หนึ่งไปขึ้นประดิษฐานอยู่ที่วัดบางพลีใหญ่ใน คือ หลวงพ่อโต จังหวัดสมุทรปราการ ตามที่ท่านแสดงปาฏิหาริย์จมน้ำหายไปครั้งนั้น หลวงพ่อได้แสดงอภินิหารให้เห็นว่า ถ้าท่านไม่ประสงค์จะอยู่ในที่ใดแล้วให้มีคนมากกว่า สามแสนคนมาฉุดดึงท่านก็ไม่รับนิมนต์ แต่พอถึงที่หน้าวัดบ้านแหลมท่านก็ยอมขึ้นแต่โดยดี มิต้องใช้เชือกมัดหรือใช้ผู้คนมากมาย ไม่ต้องฉุดดึงเพียงแต่เจ้าอาวาสในสมัยนั้น กับชาวบ้านเพียงไม่กี่คนอาราธนาอัญเชิญหลวงพ่อถูกต้องตามพิธีการ ท่านก็รับนิมนต์ยอมขึ้นมาประดิษฐานอยู่ประจำวัดเป็นมิ่งขวัญตลอดมา จนกาลปัจจุบัน

4 ความคิดเห็น:

  1. ประวัติน่าสนใจมากเลย อยากไปๆๆๆๆ

    ตอบลบ
  2. ความคิดเห็นนี้ถูกผู้เขียนลบ

    ตอบลบ
  3. วัดนี้เปลี่ยนชื่อเป็นวัดเพชรสมุทรวรวิหารนานแล้วนะค่ะ

    ตอบลบ
  4. วัดนี้เปลี่ยนชื่อเป็นวัดเพชรสมุทรวรวิหารนานแล้วนะค่ะ

    ตอบลบ